เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "แลง" (LAN) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 14-15 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 14 - 15 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 19 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มตลอดช่วง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนด้านภาคตะวันออกควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14 ? 15 ส.ค. 66 นี้ไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่คล้ายสตรอว์เบอร์รี มีแขน 20 ข้าง ในทะเลแอนตาร์กติก



นักวิทยาศาสตร์บนเรือวิจัยใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา พบสัตว์สายพันธุ์ใหม่รูปร่างประหลาดคล้ายลูกสตรอว์เบอร์รี และมีแขน 20 ข้าง

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Invertebrate Systematics เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นักวิจัยได้ออกสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติกา ในการสำรวจวิจัยหลายครั้งระหว่างปี 2551-2560 พวกเขากำลังค้นหากลุ่มสัตว์ทะเลลึกลับ ที่รู้จักกันในชื่อ Promachocrinus หรือ ดาวขนนกแอนตาร์กติก

นักวิจัยกล่าวว่า ดาวขนนกแอนตาร์กติกเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทุกที่ ตั้งแต่ประมาณ 19.5 ถึงประมาณ 1,950 เมตร ใต้ทะเล และมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แปลกประหลาดขณะว่ายน้ำ แม้ว่าดาวขนนกแอนตาร์กติกและดาวทะเลจะเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ดาวขนนกนั้นแตกต่างจากดาวทะเลอย่างมาก

ในระหว่างการสำรวจ นักวิจัยได้รวบรวมดาวขนนกแปดตัวที่มีรูปร่างโดดเด่น และค้นพบสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Promachocrinus fragarius หรือ ดาวขนนกสตรอว์เบอร์รีแอนตาร์กติก

ผลการศึกษาระบุว่า ดาวขนนกสตรอว์เบอร์รีแอนตาร์กติก มีแขน 20 ข้าง แยกออกจากส่วนกลางลำตัวที่มีรูปร่างคล้ายสตรอว์เบอร์รี มันสามารถมีสีได้ตั้งแต่ "สีม่วง" ถึง "สีแดงเข้ม" แต่นักวิจัยไม่ได้ระบุขนาดโดยรวมของสัตว์ชนิดนี้

ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้ มี "รยางค์" หรืออวัยวะที่ยื่นออกมาจากร่างกาย 2 ประเภท โดยท่อนล่างที่สั้นกว่านั้นเกือบจะเป็นริ้วและมีสภาพตะปุ่มตะป่ำ ในขณะที่ท่อนบนที่ยาวกว่านั้นเกือบจะเป็นขนนกและอ่อนนุ่ม

ภาพถ่ายระยะใกล้แสดงให้เห็นส่วนล่างของดาวขนนกสตรอว์เบอร์รีแอนตาร์กติก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมโดยประมาณ ด้านบนกว้างกว่าและเรียวไปทางปลาย ด้านล่างโค้งมน พื้นผิวดูเหมือนเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยมีรอยเยื้องคล้ายวงกลมซึ่งน่าจะมาจากส่วนแขนที่หัก

นักวิจัยตั้งชื่อสปีชีส์ใหม่นี้ตามคำภาษาละตินที่แปลว่า "สตรอว์เบอร์รี" เนื่องจาก "รูปร่างคล้ายกับสตรอว์เบอร์รี"

นักวิจัยกล่าวว่า ดาวขนนกสตรอว์เบอร์รีแอนตาร์กติก ถูกพบทั่วมหาสมุทรใต้ตั้งแต่ระดับความลึกตั้งแต่ประมาณ 64.5 เมตร ถึงประมาณ 1,152 เมตร การศึกษาระบุว่า สัตว์สายพันธุ์ใหม่นี้ถูกระบุโดยพิจารณาจากรูปร่างและการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ

ทีมวิจัยประกอบด้วย เอมิลี แมคลาฟลิน, เนริดา วิลสัน และเกรก เราส์ นักวิจัยยังได้บันทึกสปีชีส์อื่นๆ ของดาวขนนกอนาตาร์กติก รวมถึงสปีชีส์ใหม่อีกสามสปีชีส์.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2716913

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ภาวะโลกเดือด' นี่ยังเพียงเริ่มต้น


ภาพจากAFP

"ปีนี้โลกร้อนมากๆ ยุโรป ลำบากมาก ตายเยอะ เกิดไฟไหม้ป่า ไม่มีน้ำใช้ คนตกใจ เห็นได้จากญี่ป่นภาคใต้เจอไต้ฝุ่นรุนแรงมาก ส่วนภาคเหนือกลับเกิดฮีทสโตรก เหมือนโลกมันเดือดปุ๊งๆๆๆ แล้ว จริงๆ "

การที่องค์การสหประชาชนประกาศเมื่อเร็วๆนี้ โลกได้ก้าวข้าม ภาวะโลกร้อน ไปสู่?ภาวะโลกเดือด? หรือ Global Boiling แล้วเพราะเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านอุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์โลก เป็นเรื่องช็อกของผู้คนทั้งโลก

ในมุมประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนคงสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศร้อนสุดๆในปีนี้ เป็นประจักษ์พยานว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ ?ภาวะโลกเดือด?แล้วจริงๆ แต่แค่การรับรู้ว่าโลกกำลังเดือดปุดๆเหมือนตั้งแกงบนเตาแบบหรี่ไฟเบาๆ แล้วไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรจะทำและควรจะเป็น เป็นอย่างไร มาฟังมุมมองของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะโลกเดือดมีข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาโลก ยืนยันจากอุณหภูมิโลกสูงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่าน ซึ่งเป็นสามสัปดาห์ที่ร้อนที่สุด ไม่เคยอุณหภูมิสูงขนาดนี้และสูงต่อเนื่องมาก่อน ถือเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสต์ใหม่ของอุณหภูมิโลก ซึ่งจากข้อมูลโลกเริ่มอุ่นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปี ก่อน และเส้นกราฟค่อยๆ ขึ้นเป็น 45 องศา แต่ปีที่กราฟชันมาก คือ พ.ศ.2523 สอดรับกับข้อมูลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศช่วงนั้น เหมือนการต้มน้ำที่จะค่อยๆ เดือด อุณหภูมิขึ้นตามคาร์บอนที่เราปลดปล่อย แต่ตอนนี้ใช้คำว่า อุ่นอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เป็นการสิ้นสุดยุค ?โลกร้อน? เข้าสู่ยุค "โลกเดือด Global Boiling" เป็นคำที่องค์การสหประชาติใช้อย่างเป็นทางการ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

อีกปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อุณหภูมิของมหาสมุทรและน้ำทะเลสูงที่สุดและร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกไว้เช่นกันเป็นหลักฐานว่า ความร้อนเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นผิวและพื้นน้ำ การมาถึงจุดที่ทำลายสถิติไม่ได้น่าแปลกใจมากนัก เพราะความพยามของของทั่วโลกน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย มีรายงานการประเมินความพยายามของทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าไม่เพียงพออย่างวิกฤต เป็นเพียงชาติเดียว ความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อว่า อุณหภูมิจะทะลุเกิน 1.5 องศาแน่นอน

" UN ประกาศเราเข้าสู่นิวนอร์มอลใหม่ โลกที่คุ้นเคยจะไม่เกิดขึ้นในยุคเราและลูกหลาน เราต้องอยู่กับโลกที่ร้อนที่ร้อนแบบนี้ ไม่สามารถกลับไปได้แล้ว สิ่งที่ต้องพบเจอ ไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของประเทศที่เสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จากอันดับ 10 ส่วนอันดับ 1 คือ เปอร์โตริโก ถัดมาเมียนมาร์ เฮติ ฟิลิปปินส์ ปากีสสถาน เวียดนาม บังคลาเทศ เนปาล โดมินิกัล ทั้งหมดเป็นประเทศยากจน เป็นประเทศที่เปราะบาง มีความสามารถในการปกป้องตัวเองได้น้อย อยู่ในโซนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด หลุมดำอยู่ตรงนี้"


สภาพอากาศเปลี่ยน:ไทยกระทบหนัก

นอกจากนี้ มีการจัดลำดับประเทศไทยมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในปี 2613 อยู่ในลำดับที่ 7 ถ้าคิดจากจำนวนประชากร แต่ถ้าคิดจากความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ในลำดับ 10 อีกทั้งในเว็ปไซต์ขององค์การนาซ่าเผยแพร่แผนที่พื้นที่สีแดงน้ำท่วมแผ่นดินหาย ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะรวมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงอ่าวไทยตัว ก ไทยเผชิญหลายความเสี่ยง รวมถึงภัยแล้งไทยเสี่ยงเจอภัยแล้งอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนความผิดปกติของสภาพอากาศ โดยเฉพาะพายุ เมื่อดูสถิติย้อนหลัง 60 ปี จากที่พายุเข้าตามฤดูกาล ในเดือนตุลาคม ปัจจุบันเป็นพายุหลงฤดูกาล พายุถี่ขึ้น ทิ้งช่วง หรือเกิดพายุซ้อนกันหลายลูก

" นั่นหมายถึงไทยจะเจอกับภัยซ้อนภัย หรือภัยที่มาต่อเนื่อง มาเป็นซีรี่ย์ สมมติเจอพายุแล้วเกิดน้ำทะเลหนุนเข้ามาในเวลาเดียวกัน เจอศัตรูรอบด้าน ที่น่ากังวลเป็นภัยที่ต่อเนื่อง พายุลูกแรกยังไม่จบ พายุลูกที่สองมาเติมอีก หรือเพิ่งผ่านแล้งมาเจอฝนหนักเลย นี่เป็นแรงเหวี่ยง "

ส่วนข้อมูลปริมาณน้ำฝนของไทยอย่างปี 2554 ปริมาณฝนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี ไม่เคยเกิดมาก่อน แต่ไม่ใช่จะ 50 ปีต่อไปจะเกิดอีก เพราะจากข้อมูลปริมาณฝนมากสุดเกิดในปี 2559 ย่นมาแค่ 5 ปี เกิดฝนหนัก ช่วงระหว่าง 5 ปีนั้นยังเกิดภาวะแล้งจัดในรอบประวัติศาสตร์เช่นกัน ความแกว่ง ความคาดเดายาก ความรุนแรง ควบคุมยากเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องรอเข้ายุคโลกเดือด

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบน้ำแข็งละลาย ก้อนน้ำแข็งแผ่นที่ใหญ่ที่สุดหลุดและลอยไปตามมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น กระทบพื้นที่ชายฝั่งทะเล แผ่นดินหายไป ประเทศไทยเกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งมานานแล้ว แต่เป็นภัยที่ช้า หายไปปีละมิลลิเมตร แต่จริงๆ การหายของแผ่นดินจะหายไปตลอดกาล น้ำทะเลรุกคืบเสียแผ่นดินไปเรื่อยๆ มีกรณีตัวอย่างบ้านขุนสมุทรจีนที่อ่าวไทย เผชิญปัญหากัดเซาะรุนแรง ย้ายบ้านหนี20 รอบ ไม่รวมปัญหาคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ Storm Surge ซึ่งไทยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ทั้งอันดามันและอ่าวไทย จะได้รับผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ เชื่อมโยงเศรษฐกิจ วิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบ น้ำทะเลที่ร้อนยังส่งผลกระทบปะการังฟอกขาว อาจเกิดการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ อุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นมีผลโดยตรงต่อการอยู่รอดของปะการัง

ภาวะโลกเดือดยังเชื่อมโยงกับสุขภาพ ดร.ปัณฑิตา กล่าวว่า คลื่นความร้อนหรือฮีทสโตรก ไม่ว่าจะในอังกฤษ สหรัฐ เสปน ยุโรป จนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น เราเคยชินกับอากาศร้อน แต่ก็มีคนตายจากคลื่นความร้อน ซึ่งเราก็ยังต้องปรับตัวกับอากาศที่ร้อนมาก ความร้อนมาพร้อมความแล้งและแห้ง ทำให้น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำระเหยไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อุณหภูมิที่สูง ฝนน้อย ยังตามมาด้วยไฟป่า ตัวการที่ก่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ฝุ่นพิษและหมอกควันป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ มันเป็นซีรีย์จริงๆ

ไทยต้องเตรียมรับมือกับภาวะโลกเดือด โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการเพาะปลูก ขณะที่เกษตรกรขาดองค์ความรู้และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย เป็นหนี้ ประเทศก็ส่งออกไม่ตามเป้าหมาย ราคาอาหารแพงขึ้น นี่คือปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่ต้องเผชิญ

แม้ไทยจะมีแผนรับมือระดับชาติ มีแผนแม่บทโลกร้อน ไทยประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แม้ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในวันนี้ แต่ผลกระทบไม่ได้หยุดเกิดขึ้นทันที การปรับตัวซึ่งไทยมีแผนปรับตัวระดับชาติ ระดับจังหวัดกำลังทำ ส่วนระดับท้องถิ่นยังไม่มีเลย ซึ่งตนเองกำลังทำงานวิจัยตรงนี้ เพื่อชาวบ้านจะได้ปรับตัวก่อน ยังไม่รวมเอสเอ็มอี เกษตรกร ที่ต้องขยับ เริ่มตอนนี้แม้ช้า แต่ก็ไม่ควรช้าไปกว่านี้แล้ว เราพยายามผลักดันการรู้ รับ ปรับ ฟื้น บางที่ใช้คำว่า เมืองยืดหยุ่น ชุมชนยืดตัว หรือธุรกิจที่ปรับตัว รุกเร็ว รัฐต้องให้ความสนใจและมีนโยบายด้านการปรับตัวที่ชัดเจนกว่านี้ หากภัยพิบัติเกิดขึ้น ความเสียหายจะมหาศาล เพราะไทยไม่ได้เตรียมรับมือ อีกประการที่ห่วงคือ การทำ Net Zero แบบฉาบฉวย ไม่มองโลกร้อนเป็นปัญหาต้องแก้ มองแค่เป็นช่องทางทำธุรกิจใหม่ หรือทำเพื่อผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดหลักทรัพย์

" ภาคเกษตรเป็นภาคที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เยอะมากแต่ภาคเกษตรกรรมต้องการการเปลี่ยนผ่านอย่างเท่าเทียม ควรมีกองทุนที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รัฐควรสร้างระบบที่ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น จุฬาฯ พยายามพัฒนาระบบถูก ง่าย ดี และใช้ง่าย แต่ปลายทางก็ยังแพงอยู่ดี ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวกับโลกเดือด ลดความเสียหายของภาคเกษตร แต่ปัญหาอายุเฉลี่ยเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่สานต่อ เราจะขาดผู้ผลิตอาหารของประเทศภายใน 5-10 ปี สถาบันการศึกษาต้องร่วมกันสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประเทศ ส่วนภาคประชาชนยังต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอีกมาก " ดร.ปัณฑิตา กล่าว


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ภาวะโลกเดือด' นี่ยังเพียงเริ่มต้น .......... ต่อ


UN จ่อประชุมออกเกณฑ์แก้จริงจัง

นักวิชาการอีกราย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในคณะกรรมการการนโยบายการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ กล่าวว่า หน้าร้อนปีนี้ มีคนตายเยอะ เพราะอุณหภูมิสูงสุด เป้าที่ประเทศ โลกกำลังพูดไม่ให้ร้อนขึ้น1.5 องศา น่าจะเป็นไปไม่ได้ เข้ายุคจาก Global Warming กลายเป็น Global Heating ยิ่งมาเจอ เอลนิโญ่ ทำให้ร้อนนานขึ้น ถ้าไม่มี Polar jet หรือกระแสลมหนาวจากขั้่วโลกเหนือลงมา ซึ่งจะทำให้ทะเลเย็นขึ้น แต่ถ้าไม่มีทะเลก็จะเก็บสะสมความร้อนไปเรื่อยๆ

การแก้ปัญหา องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น จะมีการประชุมเรื่องนี้ในเดือนก.ย.เรียกว่าเป็นการประชุม UN AMBITION SUMMIT 2023 และจะประชุมอีกครั้งเดือนธันวาคมเป็นเวที UNSCC การประชุมยูเอ็นจะเรียกร้อง 2 ข้อ คือ Climate Action กับ Climate Justice เพราะในโลกมี 5ประเทศ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เช่น จีน อเมริกา อินเดีย จะต้องลดให้มาก เพราะถ้าไม่ลดประเทศที่เหลือจะได้รับผลกระทบ สิ่งที่ลดไป จะต้องเอาเงินไปช่วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนอื่นด้วย ซึ่งในเวทีนี้ จะมีการพูดถึง Climate Fund หรือการมีเงินกองทุนช่วยเหลือประเทศต่างๆ นี่คือ ทฤษฎี เพราะที่ผ่านมา มีการขอระดมทุนที่เรียกว่า Global Fund แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าไหร่

"การประชุมครั้งนี้ ทางยูเอ็นจะต้องบอกว่า เป็นแบบนี้ไม่ได้แล้วนะ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะทำกิจกรรมลดคาร์บอนด์ แต่ทั้งหมดเป็นกระดาษ แต่ Climate Action คือ การต้องลดจริงๆ ไม่ใช้ถ่านหิน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา พอเกิดสงครามรัสเซีย ยูเครน เกิดวิกฤติพลังงาน ทำให้เยอรมันต้องกลับมาใช้ถ่านหิน ใหม่ เหมือนโลกตีลังกากลับ เป็น วิกฤติ ซ้อนวิกฤต "


Climate Change สปีดเร็วแก้ไม่ทัน

รศ.ดร.สุจริต กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันจะไปด้วยกันทั้งในแง่ทำให้โลกสงบและ เกิดความเป็นธรรม นี่คือโจทย์ใหญ่ของยูเอ็นในเวลานี้ เพราะสปีดของClimate Change อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมันเร็วขึ้น กว่า สมัย 30-40 ปีก่อน เราพูดถึงความไม่เป็นธรรม ที่ประเทศยากจนได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศที่ร่ำรวยแล้ว หาทางออก ด้วยการเอาเงินไปลงทุนในประเทศยากจน แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สกปรก ส่วนตัวเองก็ทำอุตสาหกรรมสะอาด แต่ตอนนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมันเร็วขึ้น จะทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว การออกแบบแก้ปัญหา จะทำเหมือนสมัยปฎิวัติอุตสาหกรรม เมื่อ30-40 ปีก่อน จึงใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งเรากำลังพูดปี 2030และปี 2050 เป็นเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายแค่ตั้งเป้าไว้เฉย จะต้องไปให้ถึงจริงๆ และยูเอ็นก็พูดเรื่องนี้มานานแล้ว

"การประชุม UN AMBITION SUMMIT 2023 วันที่ 20 กันยาบน 2023 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในความเป็น AMBITION เลขายูเอ็น บอกว่า ประเทศกำลังพัฒนา จะต้องลด Co2 ให้มากกว่านี้ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาก็ทำอยู่แล้ว แต่จะต้องมีเงินมาช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ ในเรื่องของAdaptation หรือการปรับตัว เพื่อให้Emission ลดให้ได้ตามเป้าในปี 2050 แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไร ใครเป็นคนทำ และใครเป็นคนจ่าย จ่ายเท่าไหร่ " รศ.ดร.สุจริตกล่าว

สิ่งที่ยูเอ็น จะยกเหตุผลก็คือเรื่อง Damage and Loss situlation เพราะความสูญเสียจากผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้งหมดทั้งโลก แล้วทำอย่างไรจะให้ทุกฝ่าย Win -Win ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ที่พอออกเงิน จะสามารถสร้างธุรกิจบางอย่างได้ มาขายประเทศกำลังพัฒนา โดยอาจจะเป็นในรูปแบบเงินกู้ ซึ่งมีศัพท์คำนี้เกิดขึ้น ว่า Green Technology Revolution เป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีรายได้ ผลิตสินค้่าที่ผลิตได้ก็เป็นกลุ่ม Green มาขายต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งการทำอย่างนี้ จะเป็นการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด์ ฯ และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาไปในตัว


'คาร์บอนเครดิต' ตกยุค ไม่เวิร์ก

รศ.ดร.สุจริต กล่าวอีกว่า แนวคิดใหม่ของยูเอ็น ที่เน้นการลงมือทำจริง และสร้างความเป็นธรรมกับประเทศต่างๆ โดยให้มีการตั้งกองทุน Climate Fund เพราะวิธีการแก้ปัญหาจากคาร์บอนด์เดครดิ สรุปแล้วช่วยโลกไม่ได้จริง ระบบคาร์บอนเครดิต เป็นเกณฑ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เอาเข้าจริงการลดคาร์บอนด์ มันลดไม่ทัน แม้ประเทศรวยจะมีเงินซื้อ แต่ประเทศกำลังพัฒนาทำไม่ทัน จึงเลิกพูดเรื่องนี้กันแล้ว แม้แต่ในประเทศไทย หรือประเทศกำลังพัฒนา ตอนนี้ จะจ้องขายคาร์บอนเครดิต แต่ในความรู้สึกของประเทศพัฒนาแล้ว เขาเห็นว่ามันไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงต้องเปลี่ยนโหมดคิดใหม่ จากที่รอปลูกป่าลดคาร์บอน ก็จะต้องปลูกป่า ปลูกผัก และใช้เทคโนโลยีกรีน ไปพร้อมๆกัน ซึ่งจะได้ 3เด้งในเวลาเดียวกัน สามารถลดคาร์บอน และประชาชนมีรายได้ไปด้วย ส่วนประเทศร่ำรวยก็ขายเทคโนโลยีกรีนได้

"เขากำลังหาโมเดล ที่แก้ได้ 3อย่างในเวลาเดียวกัน แต่เงินอุดหนุนจะมาจากข้างนอก ประเทศร่ำรวย กำลังทำวิจัยคิดเรื่องนี้ และคิดไปถึงว่าจะต้องทำเทคโนโลยีที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถซื้อเทคโนโลยีได้ด้วย เขารู้ว่าเทคโนโลยีจะต้องดีไซน์ ให้ถูกลงแต่ใช้งานได้ ซึ่งจะวิน-วินทุกฝ่าย เรื่องนี้เขาพูดกัน 5ปี10ปี เพราะสปีดโลกร้อนมันเร็ว แต่เดิมมีแผนที่เร็วกว่านี้ และเขาคิดว่าต้องขายGreen Technology แต่พอเกิดสงครามทำให้ทั้งหมดหยุดชะงัก เงินที่จะมาทำสนับสนุนโครงการพวกนี้ กลายเป็นเงินที่ต้องมาทำสงครามหมดเลย ประเทศผู้นำควรต้องลงทุนวิจัย ควรต้องลงทุนและคิดเทคโนโลยีกรีนมาขายเรา แต่ทำไม่ได้ "


ไทยต้องตั้ง' Climate Fund'

มองย้อนที่ประเทศไทยติด อันดับ 8ประเทศเปราะบางของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า การที่ไทยติดกลุ่มประเทศได้รับผลกระทบสูง เพราะเราเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรประเทศตัวเองเยอะไม่ว่าจะเป็นป่า หรือน้ำ เราฟันป่าไปจนหมด ปัจจุบันเราอยู่ในสภาพติดลบอยู่แล้ว เราเสียสละสิ่งนี้ หมายถึงทรัพยากร เพื่อพัฒนาประเทศ โดยมีความคิดที่ว่า เมื่อเรารวยขึ้นแล้ว เราจะหันกลับมาปลูกป่าใหม่ ทฤษฎีในอดีต เป็นอย่างนี้ ต้องพัฒนาไปก่อน พอมีเงินเเหลือค่อยกลับมาฟื้นฟู แต่คิดแบบนี้ เป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องคิดเรื่อง Sustainable หรือความยั่งยืน ต้องคิดว่าต้องโตด้วย ต้องเขียวด้วย เราจึงพยายามบีบให้ธุรกิจต้องทำธุรกิจที่เป็น SCG หรือยั่งยืน ลงทุนแล้วต้องคิดถึงผลกระทบคนข้างเคียงด้วย ต่อไปจะมีคาร์บอนเดรดิตให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ต้องทำสินค้ากรีน ไม่อย่างนั้นส่งออกไม่ได้

"การที่ยูเอ็นบีบให้ประเทศใหญ่ อย่าง จีน อเมริกา ต้องลดก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าจีน อเมริกายังทะเลาะกัน ก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เราเองจึงต้องต้องเล่นเกมตามยูเอ็น ตามคอนเซ็ปต์ ท้ง Climate Action กับ Climate Justice เพื่อให้ทุกอย่างให้มันดีขึ้นบ้าง "


ยึดหลักรีน-เป็นธรรม

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกอีกว่า เรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ เราจึงต้องตั้งกรมจัดการการแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกรมโลกร้อน มารองรับ หลักการทำงานของกรม จะต้องทำหน้าที่จดทะเบียน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ของโรงงานต่างๆ โดยจะต้องมีการออกกฎหมายใหม่บังคับเอกชนส่งตัวเลขการปล่อยคาร์บอน ฯและต้องนำส่งตัวเลขนี้ให้ทางยูเอ็น ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการตั้งกองทุน Climate change Fund ซึ่งไอเดียนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นได้จริง รัฐกับเอกชนร่วมบริหารจัดการ เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น กติกาของกองทุนคือ ให้ภาคธุรกิจ ส่งเงินเข้ากองทุน หลักการคิดจ่ายเงินเข้ากองทุน ส่วนใหญ่คิดจากเปอร์เซ็นต์จากผลกำไร หรือ เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย โดยมาตรการนี้ อาจมีเรื่องภาษีมาช่วยเป็นแรงจูงใจ

"เราต้องล้อตามมาตรการของ ยูเอ็น ที่จะบีบให้ประเทศใหญ่ อย่าง จีน อเมริกา ต้องลดก๊าซเรือนกระจก ตามคอนเซ็ปต์ ท้ง Climate Action กับ Climate Justice เพื่อให้ทุกอย่างให้มันเกิดขึ้นได้จริง และเกิดความเป็นธรรมในสังคม เงินกองทุน Climate change Fund ที่ตั้งขึ้น จะมาดูแลเอสเอ็มอี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่พอตั้งรัฐบาลช้า เรื่องแก้กฎหมายรายงานก็าซคาร์บอนและอื่นๆ คงต้องล่าช้าไปด้วย "

รศ.ดร.สุจริตบอกอีกว่า อีกหนึ่งในหน้าที่สำคัญของกรมโลกร้อน ก็คือจะต้องทำเรื่องการปรับตัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รณรงค์เรื่องการรับรู้ของผู้คน และต้องนำมาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอาจจะใช้เงินจากกองทุน Climate change Fund ดังกล่าว โดยเฉพาะการให้ประชาชนรับรู้และทำจริงเพื่อลดโลกร้อน ถ้าปล่อยให้รัฐบาลกลางทำอย่างเดียวมันช้า จะต้องอาศัยเงินบริจาคเข้ากองทุนจากบริษัทใหญ่ๆมาช่วย เพราะที่ผ่านมาแม้ชุมชนต่างๆ จะตื่นตัวที่ละลดคาร์บอน แต่พอขอเงินรัฐ รัฐไม่มีตังค์ ก็ไม่ทำ มันจึงไม่เกิดการตื่นตัวรับรู้ของผู้คน ส่วนทางด้านหลักการของกองทุน ที่ดีที่สุดจะต้องมีการจัดการที่เป็นกลาง ไม่ใช่การทำซีเอสอาร์เหมือนแต่ก่อน

"ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เราประชุมกันเมื่อวันก่อน เพื่อเตรียมการเรื่องการประชุมที่ยูเอ็นในเดือน กันยาบนและเดือนธันวาคม เป็นการเตรียมการว่าจากเดิมที่เราประกาศ ลดก๊าซเรือนกระจก 20-30 % ก็จะเป็น 30-40% แล้วนะ และอีก 10% ที่เราเพิ่ม เราต้องขอความช่วยเหลือเทคโนโลยี และอีกส่วนต้องขอความช่วยเหลือเรื่องการปรับตัวของประชาชน หรือ Adaptation เพราะในโลกจะพูดถึงการเตือน เรื่องโลกร้อนส่วนใหญ่ แต่เราคิดว่าต้องเอากรีนเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในช่วงปรับตัว และถ้าเทคโนโลยีนี้ ทำให้เกิดการสร้างรายได้ไปในตัว เช่น ทำให้เกิดเครื่องมือเกษตรทันสมัย จากที่เกษตรกรบ้านเราได้แต่จ้องมองดูฟ้า ว่าควรปลูกหรือไม่ปลูก ก็จะมีการใช้เทคโนโลยีคำนวณ ฝนตกหรือไม่ และสมมุติว่าจะต้องซื้อเทคโนโลยีเยอรมัน ตัวละ 2แสนบาท ก็ควรซื้อในราคาตัวละ 5พัน เป็นต้น "

รศ.ดร.สริต สรุปอีกว่า ภาวะโลกเดือดมาจริงๆ ท้ายสุดแล้วหลักการ แอคชั่น กับจัสติก จะต้องเกิด โดยเกณฑ์จะต้องไปบีบประเทศที่รวยมาก ปล่อยก๊าวเรือนกระจกมาก ให้มาช่วย เพื่อให้เกิดวงจรการปรับตัวที่ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ในโลกใบนี้


"ปีนี้โลกร้อนมากๆ ยุโรป ลำบากมาก ตายเยอะ เกิดไฟไหม้ป่า ไม่มีน้ำใช้ คนตกใจ เห็นได้จากญี่ป่นภาคใต้เจอไต้ฝุ่นรุนแรงมาก ส่วนภาคเหนือกลับเกิดฮีทสโตรก เหมือนโลกมันเดือดปุ๊งๆๆๆ แล้ว จริงๆ "


https://www.thaipost.net/news-update/430418/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'แพลงก์ตอนบลูม'ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้าง'สารชีวพิษ'



เหตุการณ์ล่าสุด ?แพลงก์ตอนบลูม? ที่ชายหาดบางแสน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นเขียวหรือแดงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเศ รวมถึงมนุษย์ เพราะบางกลุ่มสร้าง?สารชีวพิษ? แต่ตอนนี้อาหารทะเลยังทานได้

Keypoints :

- กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยส่วนใหญ่ ที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และอาจเปลี่ยนเป็นสีต่างๆได้ ไม่เฉพาะสีเขียว

- ผลกระทบของแพลงก์ตอนบลูมต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง

- แพลงก์ตอนบลูม เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ โดยเฉพาะผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารและประสาท


สาเหตุแพลงก์ตอนบลูม

ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบลูม เกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากแผ่นดินในช่วงฤดูฝน สารอินทรีย์จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม เกษตรกรรม รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งป่าชายเลนทำให้ตะกอนที่ไหลลงมากับแม่น้ำลำคลองไม่ถูกดักจับ จึงไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากกว่าในอดีต

1. การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและชุมชนบริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานประกอบการตามแนวชายฝั่งบริเวณแม่น้ำลำคลอง กิจกรรมการประมง แพปลา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยก่อให้เกิดมลพิษลงสู่ชายฝั่งทะเล ปริมาณสารอาหาร รวมถึงปริมาณแบคทีเรีย

2. การสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช (Plankton bloom) หรือเรียกว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เช่น สีเขียวของสกุล Noctiluca และ สีน้ำตาลของสกุล Chaetoceros เป็นต้น ปริมาณออกซิเจนจะลดลงอย่างมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงชายฝั่ง


แพลงก์ตอนกลุ่มสร้างสารชีวพิษ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันมีรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีกว่า 300 ชนิด (www.marinespecies.org/hab/index.php) ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้ กลุ่มที่สร้างสารชีวพิษ ซึ่งสะสมในสัตว์ทะเลและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุให้ปลาตาย สารชีวพิษที่พบว่าสร้างโดยแพลงก์ตอนพืช มี 5 กลุ่มใหญ่ๆ (www.tistr.or.th/t/publication /page_area_show_bc.asp?i1=86&i2=25) ได้แก่

1.พิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poisoning : PSP) และออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ

2. พิษท้องร่วง (Diarrhetic Shellfish Poisoning : PSP) : มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร

3. พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม (Amnesic Shellfish Poisoning : ASP) ออกฤทธิ์รบกวนการ- ส่งสัญญาณในสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ

4. พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก (Neurotoxic Shellfish Poisoning : NSP) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท

5. พิษซิกัวเทอร่า (Ciguatera Fish Shellfish Poisoning : GSP) ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร


ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

1. ทำความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะปลา หน้าดินและสัตว์น้ำหน้าดิน

2. เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ

3. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมง กล่าวคือ สัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำหากมีการปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐาน

4. ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อแพลงก์ตอนตายแล้วถูกพัดเข้าฝั่งจะมีกลิ่นคาว สีและกลิ่นทำให้ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอาจเกิดอาการคันและระคายเคือง


แพลงก์ตอนบลูม ข้อควรระวัง

1. เกษตรกรที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ในกระชังใกล้บริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีควร ระมัดระวังสัตว์น้ำที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หรือควรจับสัตว์น้ำขึ้น เพราะบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำจะต่ำมากในเวลากลางคืน

2. งดรับประทานสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับพิษ

3. นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่มีอาการแพ้ง่ายบริเวณผิวหนัง ควรงดกิจกรรมทางน้ำ เช่น เล่นน้ำทะเล ดำน้ำ เป็นต้น


อาหารทะเลยังทานได้

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายเรื่อง การเกิดแพลงตอนบลูม ที่ชายหาดบางแสน ว่า ทะเลชายฝั่งบางแสน ศรีราชา เกิดแพลงตอนบลูมต่อเนื่อง จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกครั้ง น้ำเขียวปี๋เกิดจากแพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ แพลงตอนที่พบในตอนนี้ไม่มีพิษ ยังกินอาหารทะเลได้ตามปกติ

แต่น้ำเขียวไม่น่าเล่นน้ำ/ท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง

แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน บางจังหวะมีแดดแรง กระบวนการในทะเลเหมาะสม ทำให้แพลงตอนพืชเพิ่มเร็ว มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเราเพิ่มธาตุอาหารลงไป ทั้งการเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ แพลงตอนบลูมเริ่มก่อตัวในทะเลนอก และขยายจำนวนขึ้น จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายบริเวณชายฝั่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดน้ำเข้าไปรวมที่อ่าวไทยตอนในแถวชลบุรี ทำให้น้ำเขียวรวมตัวอยู่แถบนั้น

ระยะสุดท้ายของแพลงตอนบลูมจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน จากนั้นจะหมดไป แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามลมที่พัดพามวลน้ำเข้ามา ยังมีปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมที่เกิดตามปากแม่น้ำได้อีกด้วย แต่สุดท้ายลมในช่วงนี้ก็พัดไปรวมที่ชายฝั่งชลบุรี เมื่อถึงช่วงปลายปี ลมมรสุมเปลี่ยนทิศ แพลงตอนบลูมแถวชลบุรีอาจลดลง แต่ปีหน้าก็อาจกลับมาใหม่ตามลมมรสุม


โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องแพลงก์ตอนบลูม

โลกร้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับแพลงตอนบลูม ตามการศึกษาต่างประเทศที่พบว่าน้ำเขียวทั่วโลกเกิดถี่ขึ้นเรื่อย และขยายพื้นที่ไปในบริเวณต่างๆ ของโลก เราวัดคลอโรฟิลล์ในผิวหน้าน้ำทะเลได้โดยใช้ดาวเทียม แต่ต้องทำเป็นระบบและติดต่อเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

หากเราเข้าใจกระบวนการทางสมุทรศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น วัดกระแสน้ำ คุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ ฯลฯ เราจะเริ่มมีความสามารถในการทำนายและแจ้งเตือน น่าเสียดายที่สถานีวัดสมุทรศาสตร์แบบดังกล่าวตอนนี้มีเฉพาะที่ศรีราชา เป็นความร่วมมือระหว่างคณะประมง มก./สสน.

ผมเคยเสนอให้มีการติดตั้งสถานีวัดสมุทรศาสตร์เพิ่มเติมไปแล้วอย่างน้อยอีก 2 ที่เพื่อให้ครอบคลุมอ่าวไทยตอนในทั้งหมด ผ่านที่ประชุมระดับชาติไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เกิด (เท่าที่ทราบ) หากเรายังไม่ทำอย่างเป็นระบบ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำได้แค่น้ำเขียวเมื่อไหร่ก็ไปตรวจสอบเหมือนอย่างที่เป็นมา เราก็ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่มีแนวโน้มว่าน้ำเขียวจะเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยในอนาคต

ในขณะเดียวกัน การยกระดับการบำบัดน้ำทิ้ง การปรับเปลี่ยนการเกษตรให้เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาที่ต้นเหตุ น้ำคือทุกอย่างของทะเล เมื่อน้ำมีปัญหา ทุกอย่างในทะเลก็มีปัญหา กิจการเกี่ยวกับทะเลย่อมได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่ แต่เป็นปัญหาในภาพรวม การแก้ไขไม่สามารถทำเฉพาะครั้งคราว แต่ต้องลงทุนลงแรงทำจริงจังต่อเนื่อง เรียนรู้เพื่อทำนายและแจ้งเตือน กำหนดเป้าในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเราไม่ลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ทะเลเราก็แย่ลง กิจการเกี่ยวกับทะเลก็ได้รับผลกระทบมากขึ้น

สุดท้ายไม่ว่าเราลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวหรือฝันอยากเป็นอะไร เมื่อน้ำทะเลสีเขียวปี๋บ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น เราก็คงยากไปถึงฝัน โลกเราซับซ้อนมากขึ้น ตัวแปรมีมากมาย หากเราอยากอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ให้เนิ่นนาน เราต้อง ?รู้จัก? ทะเลให้มากขึ้น ณ จุดนี้ เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอครับ

ย้ำเตือนว่าแพลงตอนไม่มีพิษ ยังคงกินสัตว์น้ำได้ครับ


ตัวอย่างแพลงก์ตอนบลูมที่เคยเกิดขึ้น

- 27 มิ.ย. 2559 ชายฝั่งชลบุรี เช่น บางแสน ศรีราชา เรื่อยไปจนเกือบถึงเกาะสีชัง เหตุการณ์นี้เกิดจากฝนตกหนักหลายวัน น้ำจืดไหลลงทะเล ปัจจุบันเราใช้ปุ๋ยเคมีและทิ้งของเสียที่มีธาตุอาหารสูง ทำให้แพลงก์ตอนพืช ?บลูม? หรือเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนน้ำทะเลเป็นสีเขียว เพราะแพลงก์ตอนหนาแน่นมาก

- 21ต.ค.2564 แพลงก์ตอนบลูม บริเวณหาดดวงตะวัน จังหวัดระยอง ไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำและความปลอดภัยของผู้บริโภค

- 24มี.ค.2566 พื้นที่ ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวต่างชาติพบคราบสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นคล้ายน้ำมันลอยมาบริเวณชายหาดตำบลแม่น้ำ ซึ่งคราบดังกล่าวมีสีเขียว บางจุดจะมีสีน้ำตาลคล้ายโคลนลอยมาติดบริเวณชายหาด

- 30ก.ค.2566 น้ำทะเลบริเวณหาดตาแหวนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี สีน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียว แทนที่จะเป็นสีฟ้าตามธรรมชาติ เป็นต้น


https://www.bangkokbiznews.com/healt...-being/1083326

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:20


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger