#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย อนึ่ง พายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) "โนอึล" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัด ปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า ไหลหลากได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น อ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) "โนอึล" บริเวณทะเลจีนใต้จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) ?โนอึล? และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง แล้วเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 18 - 20 กันยายน 2563 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 3-5 เมตร และอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร หลังจากนั้น ในช่วงวันที่ 21 - 22 กันยายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 18 ? 21 ก.ย. 63 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โนอึล" (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18 - 20 กันยายน 2563)" ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 17 กันยายน 2563 เมื่อเวลา 4.00 น. วันนี้ (17 กันยายน 2563) พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โนอึล" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 13.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นภาคเหนือและภาคอื่นๆ จะมีผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ วันที่ 18 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก: จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล วันที่ 19 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล วันที่ 20 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนัก ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17-20 กันยายน 2563
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
สภาพอากาศเปลี่ยน ทำอากาศแปรปรวนทั่วโลกตลอดปี - ในปีนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน และภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นจากเดิม แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มชัดเจนข้ึน - นักวิทยาศาสตร์คาด ทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้ว และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอีก หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง - สาเหตุหลักที่ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการใช้พลังงานเชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่ภาวะโลกร้อน โลกกำลังส่งสัญญาณเตือน นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า โลกเรากำลังส่งสัญญาณให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ผ่านทางภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทางตะวันตกของสหรัฐฯต้องเผชิญกับไฟป่ารุนแรง น้ำท่วมหนักในแอฟริกา รวมทั้งอุณหภูมิของผิวมหาสมุทรเขตร้อนที่อุ่นกว่าปกติ รวมทั้งยังมีรายงานคลื่นความร้อนที่เดือดทุบสถิติทั้งในแคลิฟอร์เนียไปจนถึงแคว้นไซบีเรียจนทำให้แผ่นน้ำแข็งอาร์กติกละลาย โซเนีย เซเนวีราตเน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของมหาวิทยาลัยสวิส อีทีเอช ซูริช แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าหากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ทั่วโลกจะมีความเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้ว และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอีก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่มีการเตือนล่วงหน้ามานานหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงของพายุ หรือคลื่นความร้อน ที่เป็นผลโดยตรงมาจากสภาพอากาศเปลี่ยน โดยวิทยาการปัจจุบันทำให้นักวิจัยสามารถทราบรายละเอียดได้ว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีบทบาทสำคัญมากเพียงใดต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถจำลองเหตุการณ์เสมือนจริง ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไรหากมนุษย์ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ภาพถ่ายดาวเทียมเห็นควันไฟลอยปกคลุมทั่วสหรัฐฯ ร้อนรุนแรง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลานี้ ก็คือคลื่นความร้อนที่เกิดถี่มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในไซบีเรียที่อุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคลื่นความร้อนได้ส่งผลให้พื้นที่ป่าแห้งแล้ง นำไปสู่การเกิดไฟป่ารุนแรง กระทบกับแผ่นน้ำแข็งอาร์กติก นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ ก็ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แทบจะเป็นศูนย์ ถ้าหากในโลกนี้ไม่มีภาคอุตสาหกรรม หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้าน ฟรีดเดอริก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดที่กำลังทำวิจัยและศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศระบุว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อน แต่การศึกษาก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุของภัยธรรมชาติรุนแรงทุกเหตุการณ์ คลื่นความร้อนที่ปกคลุมชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้โลกเราต้องพบกับอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยอุณหภูมิสูงถึง 54.4 เซลเซียสในหุบเขามรณะ และหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ภูมิภาคดังกล่าวก็ยังคงต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนจัด โดยในแถบลอสแอนเจลิส อุณหภูมิพุ่งสูงสุดทำสถิติใหม่ที่ 49 องศาเซลเซียส ตามมาด้วยไฟป่ารุนแรงในรัฐโอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย ลม ฝน และน้ำท่วม จากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศ มหาสมุทร และนำไปสู่พายุรุนแรงขึ้น นอกจากนี้พายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นก็ทวีกำลังแรงขึ้น เนื่องจากได้รับพลังงานจากความร้อนจากมหาสมุทร โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ทางตะวันตกของอังกฤษเพิ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่พบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ความรุนแรงของเฮอริเคนและฝนที่ตกลงมาในแถบแคริเบียนมีความรุนแรงมากกว่าปกติถึง 5 เท่า อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา น้ำทะเลในอ่าวเม็กซิโกที่อุ่นขึ้นทำให้เฮอริเคนลอร่ายกระดับกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 4ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะพัดขึ้นฝั่งที่หลุยเซียนาด้วยความเร็วลมถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนาย จอห์น เบล เอ็ดเวิร์ดส ผู้ว่าการรัฐยอมรับว่า นี่เป็นเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดเข้าพื้นที่ นับตั้งแต่เฮอริเคนแคทรีนาในปี 2548 ขณะที่พายุไซโคลนที่พัดออกจากมหาสมุทรอินเดียก็แสดงรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน โดยพื้นที่นี้นับเป็นจุดที่เกิดไซโคลนบ่อยครั้งที่สุด ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปยังอินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ไซโคลนอำพันกลายเป็นพายุไซโคลนระดับ 5 ภายในเวลา 18 ชั่วโมง ก่อนที่จะพัดเข้าถล่มเบงกอลตะวันตกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนไซโคลนนิซาร์กาความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พัดเข้าถล่มตอนใต้ของอินเดีย น้ำท่วมในปากีสถานในฤดูมรสุม ร็อกซี่ แมทธิวโคล นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ของสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนของอินเดียระบุว่า พายุไซโคลนทั้ง 2 ลูกนี้เป็นพายุที่เหนือคาดการณ์ และสาเหตุที่ทำให้พายุมีความรุนแรงก็เกิดจากอุณหภูมิในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ซาง ผิง ซี่ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศแห่งสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์ สคริปป์ ในแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น มีส่วนสำคัญทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในจีนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ ส่วนที่ทวีปแอฟริกาก็เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนหนัก หลังจากที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง ชาวบ้านในซูดานนับหมื่นคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่เซเนกัลเผชิญกับฝนตกหนัก โดยพบว่าปริมาณฝนในวันเดียวมากกว่าฝนที่ตกตลอด 3 เดือนในช่วงหน้าฝน นี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่มีการอ้างอิง จากการศึกษาของนักวิจัยหลากหลายสถาบัน ซึ่งเป็นที่น่าตกใจที่ข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ภัยธรรมชาติทุกประเภทกำลังรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งตอกย้ำให้มนุษย์เราต้องยอมรับว่า หากทุกภาคส่วนยังไม่ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข สิ่งที่เราและลูกหลานจะต้องเผชิญในอนาคตข้างหน้าก็คือผลกรรมจากการกระทำของพวกเราเอง. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1928691
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
อัศจรรย์ "บึงมายา" สุดอันซีนมุมลับแห่ง "อ่าวมาหยา" ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยภาพบึงลับหรือหลุมยุบแห่งอ่าวมาหยา จ.กระบี่ พร้อมตั้งชื่อให้ว่า "บึงมายา" นับเป็นสถานที่อัศจรรย์อีกแห่งหนึ่งที่มนุษย์เคยไปสำรวจแค่ไม่กี่คน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยสถานที่สุดอันซีน มุมลับแห่งอ่าวมาหยา พร้อมกับตั้งชื่อว่า "บึงมายา" โดยดร.ธรณ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thon Thamrongnawasawat" ดังนี้ เย็นๆ ที่เพื่อนธรณ์ส่วนใหญ่ไม่ถูกหวยแบบนี้ ขอนำเรื่องดีๆ มาปลอบใจครับ #บึงมายาแห่งอ่าวมาหยา ผมเห็นบึงนี้เป็นครั้งแรก ตอนนั่งเฮลิคอปเตอร์ถ่ายภาพมวลหมู่นักท่องเที่ยวที่อ่าวมาหยา ยุคนั้นกำลังรณรงค์ทวงคืนเงินอุทยาน เป้าหลักคือคนมหาศาลแต่รายได้นิดเดียว จึงไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น แต่เอะใจตอนนั้นว่า บึงอะไรจ๊ะ สวยจัง สมัยต่อมาเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอ่าวมาหยา เราใช้โดรนบินหลายหน เพื่อนับจำนวนฉลาม เพื่อถ่ายภาพติดตามปะการังหลังฟื้นฟู บางหนโดรนเฉียดเข้าไปใกล้ผาสูงใหญ่ด้านตะวันตก เราเห็นบึงนี้แบบวูบๆ หากลองเปิดภาพดาวเทียมในกูเกิ้ล คุณแทบสังเกตไม่เห็น เพราะเงาผาบังไว้หมด ผมเคยคิดจะเอาโดรนลงไปในหุบ เพื่อถ่ายภาพบึงให้ชัดกว่านี้ พอเข้าไปใกล้นิด โดรนก็ส่ายร้องปี๊บๆ ป๋าขา หนูขออำลาไปก่อน (เฮ้ย ไม่ได้เฟ้ย สาวไปได้ โดรนห้ามไป ค่อนแสนเลยนะจ๊ะ) หน้าผาแถวนี้เยอะมาก สัญญาณไม่ค่อยดี จึงจำต้องถอยทัพออกมา จากภาพเท่าที่มี พอบอกได้ว่าบึงลับเป็นหนึ่งใน ?หลุมยุบ? ที่พบหลายแห่งในเกาะพีพี อ่าวมาหยา อ่าวปิเล๊ะ ฯลฯ ล้วนเป็นหลุมยุบที่เกิดจากภูเขาหินปูนถล่มลงมา ยังรวมถึงอีกหลายแห่ง เช่น เกาะห้องในอ่าวพังงา ถ้ำมรกตที่ตรัง อีกหลายหลุมที่สตูล แต่บึงมายาแห่งมาหยาเร้นลับกว่าทุกที่ หน้าผาสูงมากโอบล้อมไว้ทั่ว โดรนยังเข้าไม่ได้ คนจะไปต้องไต่เขาตามร่องแคบๆ ที่พอเห็นในภาพ ผมได้ยินจากคนที่เคยเข้าไป บอกว่าน้ำข้างในเป็นน้ำเค็ม/กร่อยครับ คาดว่าน้ำเค็มแทรกเข้ามาตามถ้ำใต้ทะเลที่ยังไม่มีใครพบ หรือตามรอยแยกเล็กๆ ใต้น้ำที่คนเข้าไปไม่ได้ รวมกับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากหน้าผารอบด้าน ซึ่งก็คงไม่มากมาย ทำให้เค็มมากกว่ากร่อย ลักษณะแบบนี้คล้ายทะเลในที่แม่เกาะ (หมู่เกาะอ่างทอง) ลากูนที่เกาะพนัก (อ่าวพังงา) แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก และลึกลับกว่ามากๆ เพราะทั้งสองแหล่งที่พูดถึง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังไปแล้ว ผมอยากรู้ว่า ในบึงมายาที่ตัดขาดจากโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร น้ำจะเค็มแค่ไหน จะมีตัวอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 200-300 เมตรจากหาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จะมีสถานที่อัศจรรย์ที่มนุษย์เคยไปสำรวจแค่ไม่กี่คน ธรรมชาติแอบสมบัติก้นถุงของเธอไว้ และคงเป็นสมบัติของเธอตลอดไป นี่แหละคือท้องทะเลไทย ทอดสายตาทั่วพิภพจบมหาสมุทรทั้งห้า จะหาที่ใดเสมอเหมือน...ไม่มี ?? ???????? ภาพ - กรมอุทยาน ???????? ชื่อบึงมายา ผมตั้งเองครับ ตอนนี้อ่าวมาหยายังปิดฟื้นฟู แต่ถึงเปิดแล้วก็คงไปที่บึงมายาไม่ได้ เก็บไว้อย่างนั้นดีแล้วครับ อ่าวมาหยา ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล แห่งหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นอ่าวที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายขาวเนียนละเอียดยิบ น้ำทะเลสวยใส ดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนถูกยกให้เป็นดังสวรรค์แห่งอันดามัน อ่าวมาหยา เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ?เดอะบีช? (The Beach) ซึ่งทำให้อ่าวแห่งนี้มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันอ่าวมาหยา ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก เป็นทะเลไทยในอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหมายปอง อย่างไรก็ดี ด้วยความสวยงามและชื่อเสียงอันโด่งดังของอ่าวมาหยา ทำให้ที่ผ่านมาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับความงามของอ่าวมาหยากันเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของอ่าวเล็ก ๆ แห่งนี้ อ่าวมาหยามีสภาพแบบนี้มายาวนานนับสิบปี จนเกิดอาการป่วยไข้สะสมเรื่อยมา ก่อนจะเข้าสู่สภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ ต้องประกาศปิดเกาะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเพื่อให้สภาพทั้งใต้น้ำและบนเกาะ กลับมามีความสวยงามอีกครั้ง https://mgronline.com/travel/detail/9630000094962
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
WWF เตือนสัตว์ป่า 2 ใน 3 จะตายในเวลาไม่ถึง 50 ปี Photo by Tony Karumba / AFP โลกส่งสัญญาณเตือนธรรมชาติกำลังจะตายด้วยฝีมือมนุษย์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) รายงานว่าจำนวนสัตว์ป่าลดลงกว่า 2 ใน 3 ในเวลาไม่ถึง 50 ปี ซึ่งหายนะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัว และเตือนว่าธรรมชาติกำลังถูกทำลายโดยมนุษย์ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทันย่า สตีล ประธานบริหารขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า "เรากำลังทำลายโลกของเรา และตอนนี้โลกกำลังส่งสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ว่าธรรมชาติกำลังจะตาย" นักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ทั่วโลกได้สำรวจสัตว์ป่าหลายพันชนิดและพบว่าประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉลี่ยลดลงถึง 68% ตั้งแต่ปี 2513 นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจพืชและสัตว์กว่า 100,000 ชนิด โดยพบว่ามีพืชและสัตว์ถึง 32,000 ชนิดที่ถูกคุกคามจนสูญพันธุ์ ดร.แอนดรูว์ เทอร์รี่ ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน กล่าวว่า "การลดลงของสัตว์ป่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของความเสียหายที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัตว์ป่าจะลดลงจนกระทั่งสูญพันธุ์ และทำลายระบบนิเวศที่เราอาศัยอยู่" งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ชี้ให้เห็นว่าการจะเปลี่ยนแปลงนั้นเราจะต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตและบริโภคอาหาร รวมถึงลดขยะอาหารและกินอาหารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง https://www.posttoday.com/world/633145
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ควันไฟป่าสหรัฐไปไกลถึงยุโรป ปารีส 16 ก.ย.- สหภาพยุโรปหรืออียูเผยว่า ควันจากไฟป่าที่กำลังโหมไหม้หนักทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐได้ลอยไปไกลถึงยุโรป บริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิกัสของศูนย์ยุโรปเพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศระยะกลางเผยข้อมูลจากดาวเทียมว่า ไฟป่าที่กำลังโหมไหม้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออริกอน และวอชิงตันของสหรัฐรุนแรงกว่าไฟป่าโดยเฉลี่ยที่ผ่านมาหลายสิบถึงหลายร้อยเท่า ผลการติดตามการแพร่กระจายละอองควันไฟป่าพบว่าลอยไปทางตะวันออก โดยไปไกลถึงยุโรปเหนือที่อยู่ไกลออกไปถึง 8,000 กิโลเมตร และได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30 ล้านตันตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ขนาดและความรุนแรงของไฟป่าในสหรัฐขณะนี้ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการเก็บข้อมูลในปี 2546 ไฟป่าทางตะวันตกของสหรัฐเผาพื้นที่ไปแล้วเกือบ 12.5 ล้านไร่ เทียบเท่าพื้นที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 35 คนในขณะนี้ และได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองก่อนที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน. https://tna.mcot.net/world-539864
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
สู้โลกร้อนและข่าวลวง เฟซบุ๊กเปิดตัวศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์โลกร้อน ................ โดย ณิชา เวชพานิช เฟซบุ๊กเปิดตัว "ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ต้านเฟคนิวส์โลกร้อน หลังพบว่อนเรื่องไฟป่าแคลิฟอร์เนีย มาร์ค ซักเกอร์เบิร์กเผยเป้า ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ในอีก 10 ปี 15 กันยายน พ.ศ.2563 เฟซบุ๊กเปิดตัวฟังค์ชั่นใหม่ "ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Climate Science Information Center) ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโลกร้อนที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ กระตุ้นให้ผู้คนพูดคุยและลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยคัดสรรข้อมูลและคำแนะนำจากองค์กรชั้นนำที่ทำงานเรื่องโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) แนวคิดนี้ต่อยอดมาจากการเปิดศูนย์ข้อมูลโคโรน่าไวรัส (Coronavirus Information Center) ซึ่งในช่วงวิกฤต เกิดข้อมูลเท็จและความเข้าใจผิดมหาศาล เฟซบุ๊กจึงเปิดตัวศูนย์ข้อมูลและเชื่อมต่อผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้านล้านคนกับแหล่งข้อมูลน่าที่ถูกต้อง ลักษณะศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ // ขอบคุณภาพ: Mark Zuckerberg "หนึ่งในบทเรียนใหญ่ที่เราเรียนรู้จากโรคระบาดโควิด-19 คือ ความทรงพลังของเฟซบุ๊กที่จะเชื่อมต่อผู้คนกับข้อมูลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ถูกต้องเรื่องวิกฤตโลกอนนี้ เรากำลังทำสิ่งเดียวกันกับสภาพภูมิอากาศ" เฟซบุ๊กแถลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จมากเช่นกัน สำนักข่าว ABC เผยว่า วิกฤตไฟป่ารุนแรงฝั่งตะวันตกของสหรัฐตอนนี้ มีข่าวเท็จสะพัดบนโซเชียลมีเดียว่ากลุ่มแนวคิดสุดโต่งทางการเมือง ทั้งกลุ่มขวาและซ้ายจัดเป็นตัวการจุดไฟป่าที่ลุกลามจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 24 ราย ทำให้รัฐต้องติดต่อเฟซบุ๊กให้ช่วยสกัดข่าวลือนี้ สาเหตุแท้จริงของไฟไหม้ดังกล่าวยังไม่อาจระบุได้ชัด Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าไฟป่าปีนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เฟคนิวส์เกี่ยวกับไฟป่ายังเกิดกับไฟป่าออสเตรเลียที่เป็นเรื่องดังทั่วโลกช่วงต้นปี มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหลายคนอ้างว่า ไฟป่าไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวพันกับโลกร้อน ทว่าถูกผู้ไม่หวังดีจุดขึ้น "จากที่เราเห็นไฟป่าลุกโหมข้ามชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ น้ำท่วมในซูดานใต้และเอเชียใต้ เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงและจำเป็นจะต้องลงมืออย่างเร่งด่วน" มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก โพสเฟซบุ๊ก เขาเผยว่า เฟซบุ๊กได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ทั้งธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ตั้งใจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โลกให้เหลือศูนย์ในอีก 30 ปี เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส "ในฐานะสมาชิกชุมชนโลก เราสามารถช่วยกันหยุดการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้ และต้องลงมือทำด้วยกันก่อนที่จะสายเกินไป พวกเราจะทำในส่วนของเราและหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นทำเช่นเดียวกัน" "ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เปิดตัวในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐฯ โดยจะทยอยขยายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ผู้ใช้งานสามารถกดติดตามศูนย์ข้อมูลดังกล่าว ได้ผ่านลิ้ง https://www.facebook.com/climatescienceinfo และร่วมสนุกรับคำท้าจากเฟซบุ๊ก โพสรูปสถานที่ที่อยากปกป้องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมติด #OurPlanetChallenge โดยเมื่อมีผู้เข้าร่วมครบ 100,000 คน เฟซบุ๊กจะบริจาคเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐให้องค์กรพิทักษ์ป่าไม้ Arbor Day Foundation https://greennews.agency/?p=21826
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก PPTV
ภาพดาวเทียมพายุ 5 ลูก ในมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงการหมุนของพายุ 5 ลูก ที่กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยทั้ง 5 ลูกประกอบไปด้วย พายุเฮอริเคนโปเล็ตต์ เฮอริเคนแซลลี พายุโซนร้อนเท็ดดี้ พายุโซนร้อนวิกกี้ และพายุดีเปรสชันเขตร้อนเรเน่ โดยพายุเฮอริเคนโปเล็ตต์ เกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ ( 14 ก.ย.) ในเบอร์มิวดา ในขณะกำลังเคลื่อนตัวออกไป ซึ่งพายุเฮอริเคนโปเล็ตต์ สร้างผลกระทบให้เกิด คลื่นลมพายุ และ ฝนตกหนัก รวมถึงส่งผลไปถึงหมู่เกาะ ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำลุกใหญ่ที่ผลกระทบไปยังบางส่วนของหมู่เกาะ เกรตเตอร์แอนทิลลีส ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกลุ่มเกาะในทะเลแคริบเบียน ไปจนถึงหมู่เกาะบาฮามาสและ ทางรัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ หรือเอ็นเอชซี (NHC) กล่าวว่า เตือนประชาชนที่นิยมการโต้คลื่นว่าคลื่นเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งความแรงของพายุเฮอริเคนโปเล็ตต์อาจเพิ่มกำลังขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก มีความเร็วลมอย่างน้อย 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงวันพุธ(16 ก.ย.) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นพายุเฮอริเคนลูกที่สองในฤดูกาลนี้ ซึ่งโดยเฉลี่ยพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกจะเกิดขึ้นประมาณ 3 ลูก ต่อมาเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนเรเน่อ่อนกำลังลงมาจากพายุโซนร้อนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเคลื่อนผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลาง โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดต่อแผ่นดินโดยจะสงบลงใน 2 วันข้างหน้า ต่อมาคือ เฮอริเคนแซลลี ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือผ่านอ่าวเม็กซิโก โดย เอ็นเอชซี (NHC) คาดว่า อาจเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งแอละแบมา, ฟลอริดา, ลุยเซียนาและมิสซิสซิปปี ในคืนวันอังคารนี้ หรือไม่ก็เช้าวันพุธ ด้วยกำลัง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสตอร์ม เซิร์จ หรือคลื่นสูงซัดฝั่ง สูง 7 ฟุต หรือ 2 เมตรในหลายพื้นที่ ส่วน พายุโซนร้อนเท็ดดี้ อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลางห่างจากหมู่เกาะ เลสเซอร์แอนทิลลีส ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเวสต์อินดีส ไปทางตะวันออกมากกว่า 1,609 กิโลเมตร คาดว่าพายุโซนร้อนเท็ดดี้จะแข็งแกร่งขึ้นเป็นเฮอริเคนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อเข้าใกล้เบอร์มิวดา แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ในเวลานี้ว่าจะเข้าโจมตีเบอร์มิวดาโดยตรงหรือไม่ ขณะที่ พายุโซนร้อนวิกกี้ อยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออกห่างจากหมู่เกาะคาโบเวิร์ดไปทางตะวันตกเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร และนับเป็นพายุที่เคลื่อนตัวเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ทำลายสถิติก่อนหน้านี้คือพายุแทมมี่เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2548 อย่างไรก็ตาม เอ็นเอชซี (NHC) คาดว่า พายุโซนร้อนวิกกี้ อาจอ่อนกำลังลงในช่วงไม่กี่วันอย่างหน้า อย่างที่บอกไปข้าวต้นว่า การเกิดพายุ 5 ลูกพร้อมกันในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2514 ที่มา : CNN Weather https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/133285
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|